The Demopædia Encyclopedia on Population is under heavy modernization and maintenance. Outputs could look bizarre, sorry for the temporary inconvenience

พจนานุกรมประชากรศาสตร์พหุภาษา ฉบับปรับให้เป็นเอกภาพ ปรับปรุงครั้งที่สอง ภาษาไทย

คำนำ (ฉบับพิมพ์)

จาก Demopædia

อารัมภบทต่อการปรับพจนานุกรมประชากรศาสตร์พหุภาษาฉบับพิมพ์ครั้งที่สองให้เป็นเอกภาพและนำเข้าระบบคอมพิวเตอร์

การปรับพจนานุกรมประชากรศาสตร์พหุภาษาให้เป็นเอกภาพ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 นี้ดูเหมือนจะเป็นสิ่งจำเป็นเมื่อนำพจนานุกรมนี้เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์แทนการพิมพ์บนกระดาษ ฐานข้อมูลของดีโมพีเดียได้แสดงว่ามีศัพท์สำคัญหลุดหายไปจากฉบับที่พิมพ์ในภาษาต่างๆ ในช่วงทศวรรษที่ 1980 (ภาษาฝรั่งเศส 1981 อังกฤษ 1982 สเปนในปี 1985 และเยอรมัน ในปี 1987) ในปี 1988 ฉบับภาษาอะราบิคและฉบับสามภาษา อังกฤษ-ฝรั่งเศส-อะราบิค ได้ปิดช่องว่างบางส่วนด้วยการเปรียบเทียบการแปลภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส แต่ก็ไม่ได้แปลศัพท์ใหม่อีก 92 คำที่พิมพ์ในฉบับภาษาเยอรมัน ฉบับภาษาจีน (1994) ภาษาญี่ปุ่น (1994) ภาษาเช็ค (2005) ที่แปลจากภาษาอังกฤษ เช่นเดียวกับฉบับที่เผยแพร่อยู่เพียงบนเว็บไซต์เป็นภาษารัสเซีย (2008) ปอร์ตุเกส (2008) และโปลิช (2010) ในอีกด้านหนึ่ง ฉบับภาษาอิตาเลียนที่พิมพ์บนเว็บไซต์ในปี 2010 คล้อยตามไปกับฉบับภาษาฝรั่งเศส ขออธิบายด้วยตัวอย่างต่อไปนี้ ผลที่ตามมาของศัพท์ที่ไม่ได้แปลและความสำคัญของฉบับที่ปรับให้เป็นเอกภาพแล้ว: ศัพท์ภาษาฝรั่งเศสว่า “Nourrisson” ซึ่งยังคงเก็บไว้โดยคณะกรรมาธิการบัญญัติศัพท์ของสหประชาชาติ (Commission of United Nations Terminology) ในทศวรรษที่ 1980 และซึ่งปรากฏอยู่ในทุกภาษาของพจนานุกรมพหุภาษาฉบับพิมพ์ครั้งแรกไม่ได้ปรากฏอยู่ในฉบับภาษาอังกฤษฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2

ดังนั้นพจนานุกรมฉบับปรับให้เป็นเอกภาพที่กำลังจะพิมพ์ออกมานี้จึงใส่ศัพท์คำนี้เข้าไปในทุกภาษา nourrisson ในภาษาฝรั่งเศส lactante ในภาษาสเปน brustkind ในภาษาเยอรมัน kojenec ในภาษาเช็ค lattante ในภาษาอิตาเลียน ฯลฯ หรือถ้าสามัญนามไม่มีอยู่ในภาษาใดภาษาหนึ่ง เช่นในภาษาอังกฤษ ก็จะต้องมีวลีที่จะอธิบายศัพท์คำนั้น เด็กที่ยังอยู่กับอกแม่ (child at the breast) ใช้ในฉบับภาษาอังกฤษพิมพ์ครั้งแรกของปี 1958 และถูกใส่เข้าไปอีกครั้งในฉบับปรับให้เป็นเอกภาพ ซึ่งทำให้ฉบับภาษาใหม่ๆ ที่แปลจากภาษาอังกฤษสามารถเก็บคำที่น่ารักนี้ไว้ ถ้าเหล่าเบบี้รุ่นนั้นทั้งหลายไม่รังเกียจคำนี้ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนผ่านทางประชากร!

ในการแปลพจนานุกรมให้เป็นภาษาเอเซียใหม่อีกหลายภาษากำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาเนื่องจากความสำคัญทางประชากรของทวีปนี้ การปรับให้เป็นเอกภาพเป็นเรื่องที่ต้องทำก่อนที่จะดำเนินการแปลครั้งใหม่ การปรับให้เป็นเอกภาพดังกล่าวเป็นกระบวนการที่กำลังดำเนินอยู่เกี่ยวกับทุกภาษาที่ได้พิมพ์มาก่อนหน้าแล้ว และฉบับภาษาฝรั่งเศสที่ได้ปรับให้เป็นเอกภาพฉบับแรกได้พิมพ์เผยแพร่ในการประชุมประจำปีของสมาคมสถิตอิตาเลียนครั้งที่ 46 ในเดือนมิถุนายน ที่กรุงโรม ฉบับภาษาฝรั่งเศสปิดช่องว่างเพราะพจนานุกรมฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ของปี 1981 ที่เหลือชุดสุดท้ายได้จำหน่ายไปในราคาสัญลักษณ์เพียง 1€ ที่การประชุม IUSSP ณ เมืองตูร์ (Tours) (2005) พจนานุกรมฉบับภาษาอิตาเลียนก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงเช่นกันเพราะฉบับพิมพ์ครั้งแรกในปี 1959 แล้วไม่เคยมีการปรับปรุงอีกเลย

พจนานุกรมฉบับปรับให้ผสานกลมกลืนน่าจะพิมพ์เสร็จในไม่ช้า หรือต่อไปในวันหน้าใน 12 ภาษาที่เคยพิมพ์เป็นหนังสือ และออนไลน์ในฉบับดั้งเดิม เช่นเดียวกับฉบับภาษาเอเซียใหม่อีก 6 ภาษา

ถึงแม้ว่าจะเป็นที่น่าเสียดายที่ฉบับปรับให้ผสานกลมกลืนนี้จะไม่ใช่ฉบับใหม่ ซึ่งทำให้สมบูรณ์ขึ้นด้วยศัพท์ใหม่ๆ ของประชากรศาสตร์ในสมัยปัจจุบัน อย่างเช่นคำว่า อนามัยเจริญพันธุ์ ความพิการและการพึ่งพา การย้ายถิ่นระหว่างประเทศ หน้าต่างทางประชากรศาสตร์ ประชากรลดลง การเกษียณ ฯลฯ แต่การเปรียบเทียบระหว่างฉบับพิมพ์ทั้งสองครั้งได้แสดงให้เราเห็นว่า ศัพท์สำคัญๆ ในศาสตร์เกี่ยวกับประชากรทั้งหมดได้มีอยู่ในฉบับพิมพ์ครั้งแรกแล้ว คณะกรรมาธิการบัญญัติศัพท์ของสหประชาชาติในช่วงทศวรรษที่ 1950 ได้เลือกสรรศัพท์ต่างๆ เหล่านั้นมาอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อนำมาให้คำนิยามในสาขาของเราและส่วนใหญ่นิยามเหล่านั้นก็ยังถูกต้อง

เราอาจเสียดายที่ไม่ได้เอาคำที่เลิกใช้กันแล้วหรือแม้กระทั่งคำที่ไม่เหมาะสมออกไป เอเตียง แวน เดอวอลล์ (Etienne van de Walle) ผู้เขียนหลักของพจนานุกรมฉบับภาษาอังกฤษครั้งที่สองของปี 1982 ได้บอกผมในที่ประชุม ณ เมืองตูร์ เมื่อปี 2005 ไม่นานก่อนที่เขาจะเสียชีวิตก่อนวัยอันควรว่าเขาปรารถนาที่จะร่วมในการปรับปรุงพจนานุกรมฉบับใหม่นี้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเอาศัพท์เกี่ยวกับพันธุกรรมซึ่งเป็นศัพท์หรือทฤษฎีที่ในปี 1981 มีเพียงความสนใจทางประวัติศาสตร์เท่านั้นออก การเปลี่ยนแปลงต่อฉบับเริ่มแรกเกิดขึ้นน้อยมากทั้งนี้เพื่อรักษาน้ำใจดั้งเดิมของทศวรรษที่ 1980

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นเหตุผลให้มีการพิมพ์หนังสือพจนานุกรมฉบับปรับให้เป็นเอกภาพ หนังสือจะพิมพ์เผยแพร่เมื่อการปรับให้เป็นเอกภาพในภาษานั้นๆ เสร็จสมบูรณ์แล้ว การปรับให้เป็นเอกภาพนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำให้เสร็จสำหรับการพิมพ์ครั้งที่สาม

การพิมพ์หนังสือดิจิตอลจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการพิมพ์ถูกลงมากแม้จะมีคนต้องการมากขึ้น ฉะนั้น งานของโจเซฟ ลามารัง (Joseph Larmarange) นักประชากรศาสตร์จากสถาบันวิจัยและพัฒนา (Research and Development Institute-IRD) ที่ทำงาน ณ หน่วยวิจัยผสม CEPED ทำให้เราสามารถดาวน์โหลดจากเว็บไซต์พจนานุกรมประชากรศาสตร์พหุภาษา (http://demopaedia.org/tools) ไม่ว่าฉบับปรับให้เป็นเอกภาพใดในรูปแบบอิเลคทรอนิกต่างๆ (HTML PDF หรือ EPUB) ทั้งยังเป็นไปได้ที่จะสั่งซื้อหนังสือจากสำนักพิมพ์ตามคำสั่ง เว็บไซต์เป็นแหล่งหนึ่งสำหรับการทำให้เกิดพจนานุกรมฉบับที่ “เป็นปัจจุบัน” ขึ้นมาก หรือแม้กระทั่งเป็นแหล่งดัชนีคำในหลายๆ ภาษา

ถ้าการพิมพ์เพื่อเผยแพร่อย่างกว้างขวางดูจะไม่มีเหตุผลเพียงพอสำหรับภาษาที่ได้พิมพ์ไปแล้วในอดีต การพิมพ์ “ตามคำสั่ง” ดูเหมือนจะสนองต่อความต้องการได้ดีกว่าโดยเฉพาะเมื่อพจนานุกรมทำเป็นหลายภาษาในรูปแบบเหมือนๆ กัน นอกจากนั้น การพิมพ์ “ตามคำสั่ง” ยังรวมการแก้ไขข้อผิดพลาดหรือเปลือกนอกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

สำหรับเราดูเหมือนว่าผู้เขียนหลักของพจนานุกรมพหุภาษาคืนกลับไปสู่งานเริ่มแรกของคณะกรรมธิการประชากรแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมี พอล แวซอง (Paul Vincent) เป็นประธาน ตัวของพอลเองส่วนหนึ่งก็นับว่าเป็นหนึ้การปฏิวัติระบบการทำดัชนีด้วยการให้หมายเลขย่อหน้า ซึ่งปรากฏในงานของจอห์น เอ็ดวิน โฮล์มสตรอม (John Edwin Holmstrom) เขาพิสูจน์ในหนังสือเรื่อง “Report on Interlingual Scientific and Technical Dictionaries” ที่เขียนเมื่อปี 1949 ว่า ศัพท์พิเศษเฉพาะต่างๆ ในพจนานุกรมเล่มหนึ่งไม่เพียงพอเมื่อพจนานุกรมเล่มนั้นรวมภาษามากกว่าสองหรือสามภาษา

ดังนั้น ชื่อผู้เขียนพจนานุกรมนี้จึงเป็นพหุและพหุภาษาด้วย ชื่อบุคคลในรายละเอียดได้เอ่ยถึงไว้ในอารัมภบทของพจนานุกรมทั้งสองฉบับซึ่งพิมพ์มาก่อนฉบับปรับให้เป็นเอกภาพทุกภาษาเล่มที่เผยแพร่อยู่ในปัจจุบันนี้ ถ้าเราต้องเอ่ยชื่อผู้แต่งที่เราควรชื่นชม พอล แวซอง (Paul Vincent) สำหรับฉบับภาษาฝรั่งเศสพิมพ์ครั้งแรกชองปี 1958 ยูยีน กรีเบนิก (Eugene Grebenik) สำหรับฉบับภาษาอังกฤษพิมพ์ครั้งแรกของปี 1958 ลุย อองรี (Louis Henry) สำหรับฉบับภาษาฝรั่งเศสพิมพ์ครั้งที่สองของปี 1981 เอเตียง แวน เดอ วอลล์ (Etienne van de Walle) สำหรับฉบับภาษาอังกฤษพิมพ์ครั้งที่สองของปี 1982 และ กิลเลอโม เอ แมกซิโอ (Guillermo A. Macció) สำหรับฉบับภาษาสเปนพิมพ์ครั้งที่สอง ฉบับภาษาเยอรมันพิมพ์ครั้งที่สองได้รับการประสานงานโดย ชาลอต ฮอน (Charlotte Höhn) ในปี 1987

ความที่มีผู้ร่วมสร้างพจนานุกรมประชากรศาสตร์พหุภาษาหลายคนเช่นนี้ นำเราย้ายสถานะของการพิมพ์พจนานุกรมประชากรศาสตร์พหุภาษาทุกๆ ฉบับไปอยู่ภายใต้ใบอนุญาต “Creative Commons Share Alike” เนื่องจากการนำพจนานุกรมที่พิมพ์บนกระดาษฉบับก่อนๆ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ งานใหม่ใดๆ ที่ทำเหมือนกันและพิมพ์เผยแพร่ออนไลน์ซึ่งอนุญาตให้พิจารณาถึงผลงานของผู้เขียนแต่ละคนจึงเกี่ยวข้องกับรายชื่อของทุกคน มีข้อสังเกตด้วยว่าซอฟท์แวร์ Media Wiki ซึ่งวิกิพีเดียใช้อยู่ ก็ถูกนำมาใช้โดยดีโมพีเดียทั้งในการเรียกข้อมูลจากพจนานุกรมมาดูและการบรรณาธิกรณ์ ก็อยู่ภายใต้ใบอนุญาต CCSA เช่นกัน

เมื่อเรารู้เรื่องการจัดการเล็กน้อยของดีโมพีเดียซึ่งเหมือนกับของวิกิพีเดีย เราก็สามารถที่จะเปรียบเทียบสาระของฉบับพิมพ์ครั้งแรกกับฉบับปรับให้เป็นเอกภาพได้โดยง่าย สาระที่พิมพ์ด้วยระบบดิจิตอลใช้หมายเลขย่อหน้าเดียวกัน (101 102 ฯลฯ) แต่ละหมายเลขจัดรวมไว้ในหน้าเดียวกัน (เช่น หน้า 10 http://ko-ii.wikipedia/wiki/10 ) ถ้าผู้อ่านต้องการจะรู้เหตุผลที่ทำให้ผู้เขียนนำเอาสูตรใหม่มาใช้ หน้าอภิปรายจะแจกแจงรายการปัญหาที่เกิดขึ้น และการตัดสินใจในการแก้ปัญหานั้นๆ (เช่น http://ko-ii.wikipedia/wiki/Talk:10 ) สมาชิกของสมาชิกวิชาชีพเกี่ยวกับการศึกษาทางประชากรทุกคนที่เป็นหุ้นส่วนกับโครงการดีโมพีเดียอาจมีส่วนร่วมในการอภิปรายนี้ โครงการนี้ได้เปิดให้สมาชิกของ IUSSP แล้ว ในไม่ช้าก็จะเปิดให้กับสมาชิกของสมาคมประชากรแห่งอเมริกา (PAA) และอื่นๆ ในโครงการ การแก้ไขบรรณาธิกรณ์ข้อความในพจนานุกรม (ไม่ใช่ในหน้าอภิปราย) ยังจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มผู้เขียนไม่มากนัก

โครงการดีโมพีเดียยังมีเป้าหมายที่จะเชิญนักประชากรศาสตร์โดยอาชีพทั้งหลายให้มาช่วยปรับพจนานุกรมประชากรศาสตร์พหุภาษาให้ทันสมัยผ่านทางเวทีวิกีนี้ แต่ขณะนี้ยังเป็นก้าวแรกที่จะสร้างหน้าใหม่ๆ แม้กระทั่งบทใหม่ๆ อย่างเช่น “อนามัยเจริญพันธุ์” อย่างที่ได้กล่าวถึงมาแล้ว เราเชื่อว่าเป็นการง่ายกว่าที่จะนำโครงสร้างคล้ายๆ กับของวิกิพีเดียที่เปิดกว้างขึ้น เพื่อที่จะทำให้ความแนบนัยระหว่างภาษาต่างๆ ไม่เป็นสิ่งจำเป็น URL ของสารานุกรมฟรีนี้คือ http://fr.demopaedia.org สำหรับภาษาฝรั่งเศส และ http://en.demopaedia.org สำหรับฉบับภาษาอังกฤษ เช่นเดียวกับ http://ko.demopaedia.org สำหรับภาษาเกาหลี http://th.demopaedia.org สำหรับภาษาไทย ฯลฯ

หน้าใหม่ๆ ที่จะค่อยๆ ถูกสร้างขึ้นควรทำให้เราขยายขอบเขตสาขาวิชาของเรามีศัพท์ใหม่ๆ เกิดขึ้น และนำเสนอพจนานุกรมพหุภาษาฉบับพิมพ์ครั้งที่สามในวันข้างหน้า

เป้าหมายของศาสตร์คือการแบ่งปันผลการศึกษาแก่เพื่อนร่วมชาติและเพื่อนร่วมงานทั่วโลก และดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องแปลศัพท์วิชาการอย่างดีและเป็นที่เข้าใจ เพื่อที่สื่อมวลชน ตลอดจนนักเรียน นักศึกษา จะใช้ศัพท์เหล่านั้นได้อย่างถูกต้อง เราขอให้ข้อสังเกตว่าในบางประเทศ เช่น สวีเดน ไม่มีพจนานุกรมฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง ซึ่งให้ความประทับใจว่าศัพท์วิชาการไม่จำเป็นต้องปรับให้ใหม่ในภาษาสวีดีชนอกจากภาษาอังกฤษเท่านั้น ในทางตรงข้าม ได้มีการแสดงความต้องการอย่างชัดเจนในที่ประชุม IUSSP ที่เมืองมาราเกซโดยนักวิชาการชาวเอเซีย ผู้ซึ่งภายใต้ความกดดันจากนักศึกษาในประเทศของตนที่อ่อนภาษาอังกฤษและกำลังดิ้นรนให้มีคำแปลศัพท์ประชากรศาสตร์ภาษาอังกฤษ (แม้กระทั่งศัพท์เก่าๆ) เพื่อนำมาใช้ในแวดวงประชากรของตน วันนี้ในประเทศอินเดีย มีหลายภาษาที่ใช้พูดกันโดยผู้คนเกิน 70 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนรวมของคนที่มีภาษาแม่เป็นภาษาฝรั่งเศส ภาษามาลายาลามมีคนพูดในรัฐเคราลาอย่างน้อยเป็นจำนวนมากพอๆ กับคนไทยที่พูดภาษาไทย หวังว่าเวทีวิกินี้จะเป็นโอกาสพหุภาษาที่จะอภิปรายความเข้าใจเกี่ยวกับมโนทัศน์ใหม่ที่สื่อกันในวารสารวิชาการภาษาอังกฤษ รวมทั้งในการรประชุมวิชาการนานาชาติที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสหรือภาษาสเปน และการประชุมระดับชาติที่ใช้หลายภาษาต่างกัน

โครงการนี้ไม่อาจสำเร็จได้หากปราศจากการสนับสนุนของฝ่ายประชากรของสหประชาชาติ โดยบุคคลคือ เฮเนีย ซโวนิก (Hania Zlonik) ผู้เป็นผู้อำนวยการจากปี 2005 ถึง 2012 การสนับสนุนนี้เป็นในรูปของการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการดีโมพีเดีย ที่กรุงปารีส (2007) และที่มาราเกซ (2009) ขอบคุณเป็นพิเศษต่อเซอร์เกย์ อิวานอฟ (Surgey Ivanov) (UNDP) ผู้จัดการร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ 2 ครั้ง และเป็นผู้เขียนร่างแรกของฉบับภาษารัสเซีย จิยูดิซี คริสตินา (Giudici Christina) และเอเลนา แอมโบรเสตตี (Elena Embrosetti) ผู้เขียนฉบับภาษาอิตาเลียนซึ่งพิมพ์เสร็จไปเมื่อไม่นานมานี้ ทั้งสองได้สร้างการเป็นหุ้นส่วนระหว่างมหาวิทยาลัยลาซาเปียนซา (University La Sapienza) กับคณะกรรมการชาวฝรั่งเศสของ IUSSP ที่จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องเทคโนโลยีวิกิ ที่กรุงโรมในปี 2011 ซึ่งรวมการสอนเรื่องดีโมพีเดียครั้งแรกโดย ลอเร็นท์ ตูเลอมอง (Laurent Toulemon) ในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งแรกที่ปารีสเข้าไว้ด้วย เราปลาบปลื้มเป็นที่สุดกับความร่วมมือระหว่างฝรั่งเศส-อิตาเลียน ซึ่งขับเคลื่อนการพัฒนาของโครงการดีโมพีเดีย โดยเฉพาะที่เชียงใหม่เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2012 การประชุมเชิงปฏิบัติการเชียงใหม่ได้รับทุนจาก INED จัดร่วมกับ เจราดีน ดูเธ่ (Géraldine Duthé) (INED) และจัดการในท้องที่โดย โซฟี เลอ เคอ (Sophie Le Coeur) (IRD/INED) โจเซฟ ลามารัง (Joseph Larmarange) และเอเลนา แอมโบรเสตตี (Elena Embrosetti) เป็นโอกาสในการฝึกอบรมนักประชากรศาสตร์อาวุโส 13 คน เรื่องเทคโนโลยีดีโมพีเดีย/วิกิ เพื่อที่จะผลิตพจนานุกรมฉบับปรับให้เป็นเอกภาพในภาษาเอเซียใหม่อีก 6 ภาษา (เกาหลี อินโดนีเซีย มาเลย์เซีย เนปาล ไทย และเวียดนาม) พวกเขาควรจะทำงานนี้สำเร็จทันการประชุมของ IUSSP ครั้งต่อไปที่เมืองปูซาน ในเดือนสิงหาคม 2013

ขอขอบคุณคริสติน แกนดริลล์ (Christine Gandrille) เลขานุการของคณะกรรมการแห่งชาติฝรั่งเศส (French National Committee) ของ IUSSP ผู้ช่วยสแกนและแก้ไขประเด็นต่างๆ มากมายอันเนื่องมาจากความรู้ที่ขาดมาตรฐานของหลายภาษา และขอบคุณฟรองซัว กูบรี (Françoise Gubry) และมาร์ติน เดอวิลล์ (Martine Deville) บรรณารักษ์ของ CEPED และ INED ตามลำดับ สำหรับการวิจัยเรื่องงานพิมพ์พจนานุกรม อย่างเช่นฉบับภาษาอะราบิค และคำแนะนำในเรื่องพจนานุกรม และขอบคุณสำหรับการบรรณาธิกรณ์ดัชนีคำ

ท้ายสุด ผมขอขอบคุณคณะกรรมการแห่งชาติฝรั่งเศสซึ่งผมได้รับเกียรติให้เป็นผู้นำการประชุมจนถึงเดือนมกราคม 2012 และสมาชิกทั้งหมดของคณะกรรมการชุดนี้ทั้งสามชุดติดต่อกัน ที่ได้ช่วยในการเริ่มและดำเนินโครงการดีโมพีเดียตั้งแต่ปี 2005 เว็บไซต์ของโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจาก INED ที่ได้จัดเซิร์ฟเวอร์ให้ ในปี 2012 IUSSP ได้สร้างกลุ่มผู้สนใจจนกระทั่งโครงการดีโมพีเดียสามารถเข้าไปอยู่ในเวทีสากล


Nicolas Brouard
Director of research at INED
Coordinator of the IUSSP Demopaedia project
กรกฎาคม 2013

ประวัติการทำพจนานุกรมประชากรศาสตร์ของประเทศไทย

แม้ว่าวิชาประชากรศาสตร์จะมีการเรียนการสอนในประเทศไทยมากว่า 50 ปีแล้ว แต่คำศัพท์ต่างๆ ที่ใช้อยู่ในวิชานี้ก็ยังไม่เป็นเอกภาพทีเดียวนัก ประชากรศาสตร์มีพัฒนาการมาจากประเทศตะวันตก ศัพท์ที่ใช้อยู่ในวิชานี้ที่นำมาแปลเป็นภาษาไทยส่วนมากหรืออาจเรียกได้ว่าเกือบทั้งหมดมาจากภาษาอังกฤษ ศัพท์ประชากรศาสตร์ภาษาอังกฤษต้องนำมาบัญญัติเป็นภาษาไทย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ยังมีศัพท์เป็นจำนวนมากเมื่อเรียกเป็นภาษาไทยแล้วไม่สอดคล้องตรงกัน ต่างสำนักต่างสถาบัน ก็เรียกศัพท์ภาษาอังกฤษคำเดียวกันด้วยภาษาไทยที่ต่างกันออกไป นอกจากศัพท์ประชากรศาสตร์ภาษาไทยเป็นจำนวนมากที่เรียกไม่เหมือนกันแล้ว วิชานี้ยังขาดพจนานุกรมหรือสารานุกรมที่นิยามและอธิบายคำศัพท์เหล่านั้นไว้ในแหล่งเดียวกัน โดยเฉพาะคำอธิบายศัพท์ที่ง่ายต่อการเข้าใจของบุคคลที่ไม่ใช่นักประชากรศาสตร์โดยอาชีพ นักเรียน นักศึกษา นักสื่อมวลชน นักวิชาการในสาขาอื่นๆ และบุคคลทั่วไป ซึ่งควรจะได้รับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของประชากรโดยผ่านคำศัพท์ต่างๆ ทางประชากรศาสตร์ ปัญหาเกี่ยวกับศัพท์บัญญัติทางประชากรศาสตร์ที่ไม่เป็นเอกภาพและการขาดคำอธิบายศัพท์เหล่านั้นอาจเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งของการพัฒนาศาสตร์สาขานี้ในประเทศไทย

คู่มือประชากร

ที่จริงแล้วได้มีความพยายามที่จะบัญญัติศัพท์ประชากรศาสตร์และคำอธิบายศัพท์เหล่านั้นเป็นภาษาไทยมานานแล้ว ความคิดที่จะอธิบายศัพท์ประชากรศาสตร์ที่ใช้กันอยู่บ่อยๆ และมีความสำคัญต่อความเข้าใจปรากฏการณ์ทางประชากรได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2524 เมื่อโครงการเผยแพร่ข่าวสารและการศึกษาด้านประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง “คู่มือประชากร”1/ ซึ่งแปลจากหนังสือเรื่อง Population Handbook: International Edition, 1980 ของสำนักอ้างอิงทางประชากร (Population Reference Bureau) ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา คู่มือประชากรให้คำอธิบายง่ายๆ ของศัพท์ประชากรศาสตร์หลายคำโดยมีเป้าหมายว่านักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปเป็นผู้อ่าน

ใน พ.ศ. 2529 สถาบันประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แปลพจนานุกรมประชากรศาสตร์พหุภาษา (Multilingual Demographic Dictionary) ให้เป็นภาษาไทย ได้ผลงานออกมาเป็นหนังสือชื่อ “อภิธานศัพท์ประชากรศาสตร์” ซึ่งแปลและเรียบเรียงโดยนพวรรณ จงวัฒนา2/

ต่อมาใน พ.ศ. 2532 สถาบันประชากรศาสตร์ ได้นำหนังสือเล่มนี้ให้ราชบัณฑิตยสถานรับรอง ซึ่งคณะกรรมการบัญญัติศัพท์ สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง3/ได้เริ่มพิจารณาครั้งแรกเมื่อ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 การพิจารณาใช้เวลาเกือบ 7 ปี จึงแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 เมื่อคณะกรรมการฯ ได้รับรองแล้วจึงพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ “ศัพท์ประชากรศาสตร์ อังกฤษ-ไทย ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (พ.ศ. 2539 และ 2548)