The Demopædia Encyclopedia on Population is under heavy modernization and maintenance. Outputs could look bizarre, sorry for the temporary inconvenience

พจนานุกรมประชากรศาสตร์พหุภาษา ฉบับปรับให้เป็นเอกภาพ ปรับปรุงครั้งที่สอง ภาษาไทย

90

จาก Demopædia


ข้อความปฏิเสธความรับผิดชอบ : ผู้สนับสนุนทั้งหลายของดีโมพีเดียไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับความหมายของศัพท์ต่างๆ ที่อยู่ในพจนานุกรมฉบับปรังปรุงนี้

พจนานุกรมประชากรศาสตร์พหุภาพ ฉบับปรับให้เป็นเอกภาพ ปรับปรุงครั้งที่สอง ยังอยู่่ระหว่างการดำเนินงาน หากต้องการเสนอข้อคิดเห็นใดๆ กรุณาใช้พื้นที่อภิปราย


ไปยัง: คำนำสู่ดีโมพีเดีย | คำแนะนำการใช้ | ดาวน์โหลด
บทที่: อารัมภบท | 1. แนวคิดทั่วไป | 2. การจัดการและการประมวลผลสถิติประชากร | 3. การกระจายตัวและการจำแนกของประชากร | 4. ภาวะการตายและการเจ็บป่วย | 5. ภาวะสมรส | 6. ภาวะเจริญพันธุ์ | 7. การเพิ่มประชากรและการทดแทน | 8. การเคลื่อนย้ายเชิงพื้นที่ | 9. มุมมองด้านเศรษฐกิจและสังคมของประชากรศาสตร์
หน้าที่: 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 20 | 21 | 22 | 23 | 30 | 31 | 32 | 33 | 34 | 35 | 40 | 41 | 42 | 43 | 50 | 51 | 52 | 60 | 61 | 62 | 63 | 70 | 71 | 72 | 73 | 80 | 81 | 90 | 91 | 92 | 93


901

ส่วนหนึ่งของทฤษฎีทางประชากร (105-1) จะเกี่ยวข้องกับตัวกำหนดและผลที่ตามมาของการเปลี่ยนแปลงประชากร ในอดีตทฤษฎีประชากรส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นที่ความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนรวมประชากรกับ ทรัพยากร1 ซึ่งได้แก่ วิธีการที่จะทำให้ประชากรดำรงอยู่ได้ หรือ ผลผลิต2 หรือการสร้างสินค้าและบริการ แต่เมื่อไม่นานมานี้จุดเน้นของทฤษฎีทางประชากรได้เคลื่อนมาอยู่ที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างการเพิ่มประชากร (701-1) และส่วนประกอบของการเพิ่มนั้น กับความเติบโตทางเศรษฐกิจ (903-1) โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับ การบริโภค3 การออม4 การลงทุน5 และ ตลาดแรงงาน6

902

การพิจารณาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างขนาดประชากรและทรัพยากร นำไปสู่แนวความคิดเกี่ยวกับ ประชากรมากเกิน1 และ ประชากรน้อยเกิน2 คำเหล่านี้นิยามไว้ที่ ระดับของการพัฒนา3 ที่กำหนดไว้ตายตัวระดับหนึ่ง เมื่อประชากรมีขนาดไม่ใหญ่หรือไม่เล็กไปกว่าที่จะทำให้เกิดข้อได้เปรียบ ก็จะเรียกว่าเป็น ขนาดประชากรเหมาะที่สุด4 หรือบางครั้งเรียกสั้น ๆ ว่า ขนาดเหมาะที่สุด4 ข้อได้เปรียบที่เกิดขึ้นจากขนาดที่เหมาะสมที่สุดอาจมีลักษณะในเชิงเศรษฐกิจ และเมื่อเป็นเช่นนั้นจะเรียกว่าเป็น ขนาดเหมาะที่สุดทางเศรษฐกิจ5 การอภิปรายขนาดที่เหมาะที่สุดทางเศรษฐกิจ โดยทั่วไปจะกล่าวถึงในแง่ของสวัสดิการทางเศรษฐกิจ แต่ทว่าเรื่องนี้ยากที่จะวัดด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ ดังนั้นบางครั้งจึงนำ ระดับการครองชีพ6 หรือ มาตรฐานการครองชีพ6 มาใช้แทน ระดับการครองชีพประมาณได้โดย รายได้ประชาชาติต่อหัวที่แท้จริง7 ได้แก่ ปริมาณรวมของสินค้าและบริการที่ผลิตได้ในช่วงเวลาหนึ่ง (หรือมูลค่าเงินรายได้ปรับตามอำนาจซื้อ) หารด้วยจำนวนประชากรรวมในระหว่างช่วงเวลานั้น

  • 5. นักวิชาการบางท่านใช้แนวความคิดขนาดเหมาะสมที่สุดทางการเมือง และขนาดเหมาะสมที่สุดทางสังคมเช่นเดียวกับขนาดเหมาะสมที่สุดทางเศรษฐกิจ
  • 6. คำว่า "มาตรฐานการครองชีพ" นักเศรษฐศาสตร์หลายคนจำกัดขอบเขตว่าหมายถึงเป้าหมายที่ยอมรับ หรือชุดความต้องการที่รับรู้กัน ที่แตกต่างจากระดับการครองชีพที่เป็นอยู่จริงๆ บางคนใช้ศัพท์เหล่านี้แทนกันได้
  • 7. การวัดอื่นๆ อย่างเช่น มีการใช้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัว คำว่า "Per capita" แม้จะผิดหลักไวยากรณ์ แต่ก็ใช้แทนคำว่า "ต่อหัว"

903

นักเศรษฐศาสตร์ได้เน้นความสัมพันธ์ที่เป็นพลวัตระหว่าง ความเติบโตทางเศรษฐกิจ1 หรือ การพัฒนาทางเศรษฐกิจ1 กับอัตราเพิ่มประชากรและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ทุกวันนี้นักเศรษฐศาสตร์ให้ความสนใจแนวความคิดที่อยู่นิ่งเกี่ยวกับขนาดเหมาะที่สุด น้อยกว่าแนวความคิดที่เป็นพลวัตในเรื่อง อัตราเพิ่มที่เหมาะที่สุด2ของประชากร ได้แก่อัตราเพิ่มประชากรซึ่งจะสอดคล้องกับอัตราเพิ่มของระดับการครองชีพสูงสุด ความสัมพันธ์เหล่านี้เป็นเรื่องที่เป็นห่วงกันมากในประเทศที่มีระดับการครองชีพต่ำ ซึ่งถูกเรียกว่าเป็น ประเทศด้อยพัฒนา3 หรือ ประเทศกำลังพัฒนา3

  • 3. ประเทศด้อยพัฒนา หรือ ประเทศรายได้ต่ำ ตรงข้ามกับประเทศพัฒนาแล้ว หรือ ประเทศพัฒนามากกว่า

904

ประชากรมากที่สุด1 ของพื้นที่หนึ่งซึ่งบางครั้งเรียกว่า ความสามารถในการรองรับ1 โดยทั่วไปจะสื่อให้เข้าใจว่าหมายถึง จำนวนบุคคลมากที่สุด ที่จะดำรงชีพอยู่ได้ภายใต้เงื่อนไขเฉพาะอย่างหนึ่ง แต่บางครั้งก็ใช้คำนี้เพื่อแสดงจำนวนคนมากที่สุดที่สามารถดำรงชีพอยู่ได้ในระดับการครองชีพที่สมมุติขึ้นระดับหนึ่ง ในทางกลับกัน ประชากรน้อยที่สุด2 โดยทั่วไปจะหมายถึงจำนวนบุคคลน้อยที่สุดในพื้นที่หนึ่ง ซึ่งจะไปสอดคล้อง การรอดชีพของกลุ่ม3

905

ศัพท์คำว่า ความกดดันทางประชากร1 เชื่อมโยงกับแนวความคิดในเรื่องของขนาดประชากรและทรัพยากร (901-1) ที่มีอยู่ การที่จะพูดว่าความกดดันนี้แรงหรืออ่อนในพื้นที่หนึ่ง เท่ากับเสนอว่าประชากรของพื้นที่นั้นอยู่ใกล้หรือไกลจากจุดที่สอดคล้องมากที่สุดกับทรัพยากรที่มีอยู่ตาม ทฤษฎีประชากรแนวมัลทัส2ที่เรียกกันต่อมาภายหลังจากผู้เริ่มแนวคิดนี้คือ โทมัส มัลทัส จะต้องเกิดแรงกดดันทางประชากรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อ ปัจจัยในการดำรงชีพ3 การเปลี่ยนแปลงปริมาณปัจจัยในการดำรงชีพเมื่อใดก็ตามจะทำให้เกิดการเพิ่มประชากร (701-1) จนกระทั่ง ความสมดุลทางประชากร4เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อระดับการครองชีพขึ้นไปถึง ระดับการดำรงชีพ5 ซึ่งได้แก่ระดับที่เพียงพอที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ ความสมดุลนั้นจะคงอยู่ได้ด้วยการกำจัด ประชากรส่วนเกิน10 ออกไป ไม่ว่าจะโดย การยับยั้งเชิงทำลาย6 ซึ่งบางครั้งเรียกว่า การยับยั้งแบบมัลทัส6 (ความอดอยาก โรคระบาด และสงคราม) หรือโดย การยับยั้งเชิงป้องกัน7 ด้วย การประพฤติตามหลักศีลธรรม8 ซึ่งประกอบด้วย การเลื่อนอายุแต่งงาน9ควบคู่ไปกับการงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน

  • 6. และ 7. คำว่าการยับยั้งเชิงทำลาย (positive check) และการยับยั้งเชิงป้องกัน (preventive check) ในภาษาอังกฤษโดยทั่วไปใช้เมื่ออ้างถึงหลักการของมัลทัสเท่านั้น

906

ถึงแม้ศัพท์คำว่า คตินิยมแนวมัลทัส1 จะเริ่มจากการอ้างถึงทฤษฎีของมัลทัส แต่ทุกวันนี้คำนี้แสดงถึงแนวความเชื่อที่ว่า การควบคุมอัตราของการเพิ่มประชากรเป็นสิ่งที่จำเป็น คตินิยมแนวมัลทัสใหม่2 จะยอมรับความจำเป็นในการควบคุมการเพิ่มประชากรด้วยการใช้วิธีคุมกำเนิด (627-3)

  • 1. ศัพท์นี้บางครั้งใช้กันผิดๆ เพื่อหมายถึงการทุ่มเทให้กับโครงการวางแผนครอบครัวเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

907

กระบวนการเปลี่ยนผ่านจากสถานการณ์ที่ทั้งภาวะเจริญพันธุ์และภาวะการตายอยู่ในระดับสูง มาเป็นสถานการณ์ที่ภาวะทั้งสองอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งสังเกตได้ว่าเกิดขึ้นในหลายๆประเทศเรียกว่า การเปลี่ยนผ่านทางประชากร1 หรือ การเปลี่ยนผ่านประชากร1 ในกระบวนการเคลื่อนจาก ขั้นตอนก่อนการเปลี่ยนผ่าน2 ไปสู่ ขั้นตอนหลังการเปลี่ยนผ่าน3 จะเกิดช่องว่างระหว่างการลดลงของภาวะการตายกับภาวะเจริญพันธุ์ ซึ่งเป็นขั้นตอนของ การเติบโตช่วงเปลี่ยนผ่าน4ของประชากร นักเศรษฐศาสตร์ได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงใน ผลิตภาพ5 ซึ่งได้แก่ ผลิตผลต่อสมาชิกของกำลังแรงงาน หรือ ต่อหัวประชากร ที่สัมพันธ์กับช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านนี้

  • 1. บางครั้งเรียกการปฏิวัติชีพ มีความแตกต่างระหว่างการเปลี่ยนผ่านภาวะเจริญพันธุ์ และการเปลี่ยนผ่านภาวะการตาย ทฤษฎีการเปลี่ยนผ่านทางประชากรนำเอาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงอัตราชีพไปสัมพันธ์กับการเปลี่ยนรูปแบบทางเศรษฐกิจสังคมที่เกิดในกระบวนการของอุตสาหกรรมาภิวัตน์และนคราภิวัตน์

* * *

ไปยัง: คำนำสู่ดีโมพีเดีย | คำแนะนำการใช้ | ดาวน์โหลด
บทที่: อารัมภบท | 1. แนวคิดทั่วไป | 2. การจัดการและการประมวลผลสถิติประชากร | 3. การกระจายตัวและการจำแนกของประชากร | 4. ภาวะการตายและการเจ็บป่วย | 5. ภาวะสมรส | 6. ภาวะเจริญพันธุ์ | 7. การเพิ่มประชากรและการทดแทน | 8. การเคลื่อนย้ายเชิงพื้นที่ | 9. มุมมองด้านเศรษฐกิจและสังคมของประชากรศาสตร์
หน้าที่: 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 20 | 21 | 22 | 23 | 30 | 31 | 32 | 33 | 34 | 35 | 40 | 41 | 42 | 43 | 50 | 51 | 52 | 60 | 61 | 62 | 63 | 70 | 71 | 72 | 73 | 80 | 81 | 90 | 91 | 92 | 93

ดึงข้อมูลจาก "http://th-ii.demopaedia.org/w/index.php?title=90&oldid=765"